วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อุทยานนกน้ำทะเลน้อย






ทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืด มีพื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในตำบลพนางตุงและตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีคลองนางเรียมยาว 2 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างทะเลน้อย กับทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้คลองนี้เป็นทางสัญจรระหว่างทะเลน้อยกับหมู่บ้าน ทางฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวชุมชนทะเลน้อย  ส่วนฝั่งเหนือ ฝั่งตะวันออก ฝั่งใต้ เป็นป่าพรุและพงหญ้า มีความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร ในทะเลน้อยยังอุดมด้วยพืชน้ำ เช่น บัว หญ้าน้ำ ผักตบชวา จอกหูหนู  กก ปรือ  สาหร่าย กุ้งและปลาซึ่ง เป็นอาหารของนกอย่างสมบูรณ์ จากสภาพพื้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้น้ำ และสัตว์น้ำต่างๆ ทะเลน้อยจึงมีความเหมาะสมเป็นแหล่งอาศัยหากินทำรังและวางไข่ของนกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกน้ำ


ล่องเรือชมทะเลบัวแดง

ต้องไปแต่เช้าครับ ดอกบัวจะบานตอนเช้า พอสายๆประมาณ10โมง ดอกบัวก็จะหุบแล้ว  ตลอดทั้งท้องทุ่งประมาณ 16,000 ไร่ จะมีพืชน้ำขึ้นสลับดูสวยงาม ทั้งบัวสาย บัวหลวง ผักตบชวา กระจูด  สีสันของทะเลบัวแดง ในยามเช้า ที่แข่งกันชูดอกสีชมพู สีแดง บานสะพรั่งเต็มท้องน้ำอวดโฉมให้แก่นักท่องเที่ยว เราใช้เรือลำน้อยเป็นพาหนะในการเดินทางชมทัศนียภาพอันสมบูรณ์และความงดงามของทะเลน้อยที่ เป็นป่าต้นกำเนิดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จนได้ชื่อว่าเป็นอเมซอนแห่งอาเซียน  เหมือนป่าอเมซอน จริงๆ ชมบัว ชมนก ชมไม้ไปเพลินๆ จู่ๆควายตัวใหญ่ก็โผล่หัวขึ้นมาจากน้ำใกล้เรือ ตกใจกันไปทั้งคู่ ทั้งคน ทั้งควาย 


ควายน้ำ วิถีคน ชีวิตควาย

ควายที่เลี้ยงกันในทุ่งพรุทะเลน้อยเป็นควายไทยธรรมดาหรือควายปลักที่เลี้ยงสืบทอดติดต่อกันมา ๓-๔ ชั่วอายุคน เป็นเวลานานร่วม ๑๐๐ กว่าปี  แต่ทั้งคน ทั้งควายก็ปรับตัวให้อยู่ในสภาพมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ตลอดทั้งปีจนได้ชื่อว่าควายน้ำ ในทะเลน้อยมีอยู่ประมาณ  2000 ตัว  เลี้ยงเป็นฝูงปล่อยทุ่งและมีคอกควายที่สร้างขึ้นกลางทุ่งด้วยการขุดดินถมที่ให้สูงขึ้นสำหรับให้ควายพักผ่อนหลังจากกลับจากกินหญ้าโดยเฉพาะยามค่ำคืน  ชาวบ้านและควายที่นี่ได้ปรับตัวให้อยู่กับแหล่งน้ำ ตอนเช้าก็ออกมาปล่อยควายออกจากคอกเพื่อให้ไปหากินในป่าพรุ ซึ่งบางครั้งไกล 4-5 กิโลเมตร ควายก็ว่ายน้ำไปเรื่อย ว่ายน้ำไปมุดน้ำกินหญ้าไป ตามอิสระ ส่วนชาวบ้านก็ออกไปหาปลา ดักไซ ทอดแห ที่แปลกอย่างหนึ่งคือควายที่นี่จะเลี้ยงปล่อย ฝูงควายอาจจะไปปนฝูงอื่นบ้าง หรือหลงไปในป่าบ้าง แต่เจ้าของแต่ละคนก็จำควายของตัวเองได้ พอเริ่มเย็นเจ้าของควายก็จะนำเรือไปตามควายของตัวเองในป่าพรุเพื่อนำกับคอก  ควายจะกินหญ้าแทบทุกชนิดที่อยู่ในทุ่งหญ้าและป่าพรุเช่นหญ้าข้าวผี หญ้าครุน หญ้าปล้อง จูดหนูเป็นต้น ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม  ระดับน้ำในทุ่งหญ้าท่วมสูงมากจนหญ้าจมมิดอยู่ใต้น้ำแต่ควายก็สามารถดำน้ำลงกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำได้


ช่วงน้ำมากๆปัญหาอย่างหนึ่งที่พบก็คือเรื่องที่พักของควาย แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าควายน้ำ แต่มันก็เหมือนกับควายทั่วไป ตอนเช้าออกไปหากินหญ้า เย็นก็ต้องกลับมาพักบนที่แห้งที่ดอน ลูกควายเล็กๆที่ไม่แข็งแรงพอดำน้ำกินหญ้าแต่ละทีก็เหนื่อย บางตัวตายไปก็มี




นานานกน้ำ สวรรค์ของนักดูนก
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นแหล่งที่อยู่ของนก มากกว่า 200 ชนิด มีทั้งนกประจำ และนกอพยพย้ายถิ่น โดยจะอพยพมาในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นกมีประชากรมากที่สุดถึงราว 43,000 ตัว ส่วนช่วงที่มีนกน้อยที่สุด อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน อันเป็นช่วงที่นกน้ำทำรัง  ที่เด่นก็มี นกยางและนกกระสาแดง จะทำรังและอาศัยอยู่ในทะเลน้อยตลอดทั้งปี  นกอีโก้งตัวสีม่วงปากสีแดงเดินหากินตามกอบัว  นกเป็ดผี ว่ายน้ำและดำน้ำเก่งมาก นกกาน้ำกางปีกผึ่งแดดหลังจากดำน้ำหาปลากินจนอิ่ม  นกกาบบัว นกตีนเทียน หรือ นางนวลหนีหนาวมาจากทางเหนือในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน

นกอีโก้ง







บางส่วนของทะเลน้อยมีจุดที่หวงกันห้ามเข้าเพื่อสงวนไว้ให้นกทำรังและฟักไข่ เราเข้าไปดูได้ในระยะไกล แต่ก็รู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะเสียงนกดังมาก ระงมเต็มพื้นที่ไปหมด น่าจะมีอยู่หลายพันตัว สมกับที่ได้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งแรกของไทยตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพ ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัย ที่หาอาหาร แหล่งสืบพันธุ์ของนกน้ำนานาชนิด






ชมวิวบนสะพาน



เสร็จจากล่องเรืออย่าลืมแวะเที่ยว สะพานเอกชัย หรือ ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550เชื่อมต่อระหว่างอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กับ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะเรียกว่าถนนหรือสะพานก็ไม่รู้ แต่ช่วงที่ข้ามทะเลน้อยยกสูงเป็นสะพานยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีจุดจอดรถเป็นระยะ วิวสวยมาก เห็นทะเลน้อยในมุมสูง ยังเสียดายไม่ได้อยู่ถึงเย็นจนพระอาทิตย์ตกคงงดงามน่าดู